MFEC มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบเชิงลบ ควบคู่กับการแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เป้าหมายที่ 6, 12, 13 โดยการส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยให้ลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของเราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
กรอบการบริหารจัดการ
– แสดงเจตจำนงโดยผู้บริหารขององค์กรร่วมมือรับผิดชอบในการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานและการจัดการสิ่งแวดล้อม
– ประเมินความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– กําหนดเป้าหมายและนโยบายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
– ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ
– ติดตามความก้าวหน้า เทียบกับเป้าหมาย วิเคราะห์แนวทางปรับปรุงผลการดำเนินงาน
– สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านกลยุทธ์และความก้าวหน้าในการดำเนินงาน พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก
การใช้พลังงานไฟฟ้า
การใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เพียงแค่เป็นต้นทุนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ MFEC จึงได้กำหนดแผนในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ดังนี้
วิเคราะห์และประเมินการใช้พลังงานไฟฟ้า :
เพื่อทำให้องค์กรสามารถรับรู้ถึงพื้นที่ที่มีโอกาสในการปรับปรุงและลดการใช้ไฟฟ้าได้
ตั้งเป้าหมายการลดการใช้ไฟฟ้า :
เพื่อการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมาย
สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการประหยัดพลังงาน :
เพื่อเสริมสร้างการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและควบคุมการใช้พลังงานอัตโนมัติ
สร้างความตระหนักรู้และการฝึกอบรม :
เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิธีการใช้พลังงานที่ดีที่สุด
วัดและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง :
เพื่อปรับปรุงและปรับเปลี่ยนแผนการลดการใช้ไฟฟ้าตามความเหมาะสม
การจัดการน้ำ
แม้ว่าลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ จะไม่มีการใช้น้ำในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็ยังมีส่วนที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของพนักงาน บริษัทฯ จึงได้คำนึงถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เป็นปัญระดับโลกในปัจจุบัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ บริษัทฯ จึงได้กำหนดแผนในการประหยัดน้ำ ดังนี้
วิเคราะห์และประเมินการใช้น้ำภายในองค์กร :
เพื่อทำให้องค์กรสามารถรับรู้ถึงพื้นที่ที่มีโอกาสในการปรับปรุงและประหยัดน้ำได้
ตั้งเป้าหมายการประหยัดน้ำ:
เพื่อการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมาย
สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการประหยัดน้ำ:
เพื่อควบคุมการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้างความตระหนักรู้และการฝึกอบรม:
เพื่อเพิ่มความเข้าใจและรณรงค์ให้เกิดการประหยัดน้ำ
วัดและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง:
เพื่อปรับปรุงและปรับเปลี่ยนแผนการประหยัดน้ำตามความเหมาะสม
การจัดการขยะ
MFEC ได้คำนึงถึงกระบวนการฟื้นคืนของทรัพยากรผ่านการจัดการของเสียภายในองค์กรอย่างเคร่งคัด โดยใช้หลักการ 5R ได้แก่ Reduce -> การลดการใช้ลดการบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง
Reuse -> การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ
Recycle -> การนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ด้วยกระบวนการรีไซเคิล
Repair -> การซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานมากขึ้นแทนที่จะนำไปทิ้งไปในทันที
Reject -> การปฏิเสธหรือไม่ใช้ของที่คิดว่าเป็นการทำลายทรัพยากร และสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งพิจารณาศักยภาพการใช้ประโยชน์ของของเสียแต่ละประเภท และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ความเสี่ยงทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และอาจก่อให้เกิดการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ มูลค่าธุรกิจ และความปลอดภัยของพนักงาน อีกด้วย ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยมีการประเมินผลกระทบต่อธุรกิจและผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
เป้าหมายในการบรรเทาความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือการลดผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน อาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาความเสี่ยง การส่งเสริมการศึกษาและการเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการบรรเทาความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
MFEC ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยผู้บริหารระดับสูงมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
1) เป็นผู้กำหนดบทบาทและมอบหมายหน้าที่หรือบุคลากรที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2) ดำเนินการติดตามตัวชี้วัดความเสี่ยง รวมถึงการบูรณาการความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
3) พิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4) สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และทักษะของบุคลากร ในการดำเนินการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ MFEC ได้กำหนดโครงสร้างการกำกับและบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัทและถ่ายทอดไปยังระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารจัดการการดำเนินงานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวไปกับวิสัยทัศน์ พันธกิจของบริษัทฯ คณะกรรมการที่รับผิดชอบในการดูแลจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Risk Management, Corporate Governance and Sustainability Committee) คณะกรรมการดังกล่าวเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน ดำเนินการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความเสี่ยง ครอบคลุมความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำกับดูแลการบริหารงานด้านความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการประชุมเพื่อติดตามความเสี่ยงและกำหนดมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องทุกไตรมาส นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานความยั่งยืน (SD Working Team) คอยทบทวนการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลักดันไปสู่การปฎิบัติ สร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก มีการวิเคราะห์และนำเสนอปัจจัยความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน(Risk Management, Corporate Governance and Sustainability Committee) รับทราบเพื่อบูรณาการความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปกับความเสี่ยงขององค์กร เพื่อให้มีการกำกับดูแลต่อไป
การประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
ดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท โดยระบุและประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการ การเงิน และชื่อเสียงของบริษัท ครอบคลุมกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแปรปรวน การจัดการก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
การจัดการก๊าซเรือนกระจก
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ตามที่ประชาคมโลกได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงมีความตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ขององค์กรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม
ทั้งนี้การจัดการก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ MFEC ตั้งใจสร้างคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการกระทำอย่างต่อเนื่อง
ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์
MFEC มีความมุ่งมั่นในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังสามารถสร้างการเติบโตผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่มีคุณภาพสูง แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกใช้ทรัพยากรไปจนถึงการจัดการเมื่อสินค้าสิ้นอายุการใช้งาน โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
การเลือกใช้ทรัพยากร
ประเมิน และเลือกวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอย่างรอบคอบ โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ และเพิ่มการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ นอกจากนี้วัตถุดิบที่เลือกใช้ต้องไม่ทำลายระบบนิเวศหรือสังคมท้องถิ่น และไม่มีการใช้แร่ที่มีข้อขัดแย้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนการใช้งาน
ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูง โดยการออกแบบต้องคำนึงถึงความสามารถในการซ่อมแซม การอัปเกรด และการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความต้องการในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่บ่อยครั้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และการใช้ทรัพยากรใหม่
การจัดการสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน
จัดตั้งโครงการรับคืนผลิตภัณฑ์จากลูกค้า เพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการผลิตใหม่หรือนำไปรีไซเคิล พร้อมทั้งให้คำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจัดการผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุอย่างถูกวิธีแก่ลูกค้า และเพื่อแสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพย์สินและอุปกรณ์ของบริษัทฯ ที่ถึงวาระสิ้นอายุการใช้งานอย่างโปร่งใส บริษัทฯ ได้จัดทำเอกสารบัญชีหนังสือขอขาย ทำลาย และบริจาคประจำปีไว้สำหรับติดตามทรัพย์สินที่ได้รับการจัดการอย่างต่อเนื่อง
การตรวจสอบและปรับปรุง
ทำการตรวจสอบและปรับปรุงหลักเกณฑ์ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด บริษัทฯ จะร่วมมือกับผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติงานที่ยั่งยืน
ขับเคลื่อนองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนจากสังคมภายในสู่ภายนอก โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจให้พนักงานตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลา และให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าผ่านการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตภายในองค์กรด้วยแนวคิด
บริษัทฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันโครงการ ‘คอมเก่าสู่คนใหม่ เรียนรู้ไกลไม่สิ้นสุด’ กระจายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
นำส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Computer, IT Equipment, Accessory ให้บริษัท เอเชีย กรีน รีสแครป จำกัด เป็นผู้ทำลายตามมาตรฐานกรมโรงงานอุสาหกรรม โดยรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่กระบวนการทำลายจำนวน 9,462 กิโลกรัม