การกำกับดูแลกิจการที่ดี

ด้วยความเชื่อมั่นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ นั้นจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างมูลค่าเพิ่มระยะยาวแก่นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และนำพาองค์กรไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย บริษัทฯ จึงได้กําหนดให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือที่ดีทางธุรกิจ ตามหลักปฎิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี 

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จัดทำและประกาศใช้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณธุรกิจ ที่สอดคล้องกับหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับให้ความสําคัญ พร้อมทั้งปฏิบัติตามด้วยความรับผิดชอบ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ 

องค์ประกอบของกรรมการบริษัท

ทักษะและประสบการณ์ของคณะกรรมการ

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

MFEC ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของอุดมการณ์องค์กรที่มุ่งสร้างความยั่งยืน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้กำหนด แนวปฏิบัติที่ดี เพื่อใช้เป็นแนวทางให้พนักงานทุกระดับยึดถือและนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมในการทำงาน 

แนวทางนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบข้อบังคับที่ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยธุรกิจ คณะผู้บริหาร กรรมการ กรรมการอิสระ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จนถึงประธานกรรมการบริษัท ซึ่งทุกคนในองค์กรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณที่กำหนดไว้ในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจอย่างเคร่งครัด 

นอกจากนี้ บริษัท ได้มีการจัดทำและประกาศใช้คู่มือจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ให้คู่ค้าของบริษัทใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน 

การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริษัทตระหนักดีว่า การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปด้วยความซื่อตรง โปร่งใส ตามนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 

  1. บุคลากรทุกระดับพึงปฏิบัติตามแนวทางและวิธีปฏิบัติ ในการทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามอำนาจอนุมัติและขั้นตอนดำเนินการ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลรายการเกี่ยวโยงกันตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  2. บุคลากรทุกระดับต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยอาศัยข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัท ไม่ว่าจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงจะต้องปฏิบัติตามนโยบายการใช้ข้อมูลภายในและการซื้อขายหลักทรัพย์ ของบริษัทโดยเคร่งครัด
  3. การทำธุรกิจใด ๆ กับบริษัท ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว หรือในนามนิติบุคคลใด ๆ ที่บุคลากรของบริษัท มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้องเปิดเผยส่วนได้เสียต่อบริษัทก่อนเข้าทำรายการ
  4. ต้องไม่เข้าร่วมประชุม และไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและอนุมัติในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสียหรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารเป็นไปอย่างยุติธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างแท้จริง
  5. การประกอบธุรกิจอื่นนอกบริษัท ของบุคลากรทุกระดับ ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเวลาทำงานของบริษัท โดยห้ามมิให้มีส่วนร่วมในธุรกิจอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท
  6. ผู้บริหารของบริษัทตั้งแต่ Level D ขึ้นไป หากจะเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่น ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจของบริษัท (ยกเว้นกรณีดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร)

บริษัทฯ ตระหนักถึงการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน โดยห้ามบุคลากรทุกระดับ ไม่ให้เรียกร้อง ดำเนินการ หรือ ยอมรับการคอร์รัปชัน เพื่อประโยชน์ต่อบริษัท ตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงธุรกิจในทุกประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย เพื่อให้บุคลากรทุกระดับ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วกัน 

  1. สื่อสารนโยบาย แนวปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันให้บุคลากรทุกระดับ รวมถึง ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกบริษัท
  2. ห้ามมิให้บุคลากรทุกระดับ ดำเนินการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตและคอร์รัปชัน หรือยอมรับการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนจะต้องไม่ละเลย หรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นและทราบเบาะแสการทุจริตและคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ และบริษัทฯย่อย โดยให้ดำเนินการแจ้งผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียนของบริษัท
  3. ดำเนินการในเรื่องการให้หรือรับของขวัญ, การเลี้ยงรับรอง, การบริจาค, การให้ความสนับสนุน, การสนับสนุนทางการเมือง, การขัดแย้งทางผลประโยชน์, การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก, การจ้างพนักงานรัฐ, การปกป้องดูแลทรัพย์สินของบริษัท, การใช้ข้อมูลภายในและการซื้อขายหลักทรัพย์, การให้ข้อมูลข่าวสารหรือให้สัมภาษณ์, การป้องกันการฟอกเงิน, ทรัพย์สินทางปัญญา, การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ, การรักษาความลับ, การต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม, การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ ต้องกระทำอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) กำหนด
  4. ระมัดระวังในการทำธุรกรรมกับบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใด ๆ ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชัน

บริษัทมีระบบการแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียนในกรณีที่ท่านทราบหรือพบเห็นการกระทำ หรือเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายเกี่ยวกับการทุจริต ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับบริษัท และจรรยาบรรณ ท่านสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวได้ผ่านช่อง ดังนี้ 

สำหรับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก
คณะทำงานต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน
บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี เลขที่ 349 อาคาร เอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
เบอร์โทรศัพท์ : 02-821-7999
E-mail: Anti-corruption@mfec.co.th
 

กรอกแบบฟอร์มผ่านเว็บไซต์
หัวข้อ
IR > การกำกับดูแลกิจการ > การแจ้งเบาะแสหรือการร้องเรียน (https://ir-internal.mfec.dev/en/whistleblowing-channel/) 

สำหรับพนักงานบริษัท 
บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี เลขที่ 349 อาคาร เอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900  
เบอร์โทรศัพท์ : 02-821-7999
E-mail: Anti-corruption@mfec.co.th
 

หัวหน้า ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร บุคคลหรือหน่วยงาน (แผนกทรัพยากรบุคคล, หน่วยงานตรวจสอบภายใน) ที่ผู้แจ้งเบาะแสไว้ใจ 

กรรมการอิสระหรือคณะกรรมการอื่น ๆ ของบริษัท 

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับต้องไม่ใช้ข้อมูลภายใน (Inside Information) ที่มีสาระสำคัญ และยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท มีสิทธิเสรีภาพในการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท และบริษัทจดทะเบียนอื่นในตลาดหลักทรัพย์  

  1. รายงานการมีส่วนได้เสียของตน ไปยังเลขานุการบริษัท เพื่อรวบรวมรายงานการมีส่วนได้เสียและรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นรายไตรมาส
  2. ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์บริษัท ช่วงก่อน 30 วันในการเปิดเผยงบการเงินของบริษัทต่อสาธารณชน หากพนักงานมีความจำเป็นต้องซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ต้องแจ้งและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อนการซื้อขาย จึงจะสามารถซื้อขายได้
  3. ยื่นรายงานต่อสำนักงาน กลต. ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย หรือรับหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลง

บริษัทจะไม่รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน หรือสนับสนุนให้มีการโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดใช้ช่องทางธุรกิจของบริษัทเพื่อการถ่ายเท ปกปิด หรืออำพรางแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท และหรือผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ของบริษัทหรือไม่ก็ตาม 

  1. ก่อนทำธุรกรรมกับคู่สัญญา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของเงินได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
  2. ไม่โอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่รู้จัก หรือรับโอนเงินที่มีลักษณะการจ่ายที่ผิดปกตินโยบายการกำกับดูแลกิจการ
  3. กรณีพบเห็นธุรกรรมที่ไม่ปกติ ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที

บริษัทตระหนักดีว่า การรับ หรือให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด รวมทั้งการเลี้ยงรับรองต่างๆ เป็นช่องทางที่สามารถก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน ดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส 

  1. บริษัทกำหนด การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง หรือการเลี้ยงตอบแทนตามธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือประโยชน์อื่นใด กระทำได้ในวิสัยที่สมควร และอยู่ในข้อกำหนดของบริษัท ทั้งนี้ต้องกระทำด้วยความโปร่งใส หรือทำในที่เปิดเผย หรือสามารถเปิดเผยได้ โดยที่ต้องไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบริษัท หรือของผู้รับ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจ และต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่บริษัทกำหนด
  2. หากพนักงานได้รับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด ในโอกาสตามประเพณีนิยมที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท จากผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่บริษัทได้กำหนดไว้
  3. พนักงานที่ต้องติดต่อกับผู้ขาย (Vendor) และได้รับสินค้าซึ่งมีมูลค่า ที่ผู้ขายให้มาเพื่อที่จะทดสอบ ทดลองใช้หรือเพื่อการอื่นใดก็ตาม พนักงานจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำสินค้านั้นเข้าระบบของบริษัทก่อน และเบิกตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งพนักงานมีหน้าที่ต้องคืนสินค้าให้กับบริษัท

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และต้องไม่มีส่วนรู้เห็น ช่วยเหลือ หรือกระทำการใดอันเป็นการละเมิด ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของบริษัท 

  1. ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ การเข้าทำงาน วันหยุดและวันลาต่าง ๆ การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การลาจรรยาบรรณในการทำงานของบริษัทที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  2. มีความซื่อสัตย์สุจริต โดยต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวตามที่บริษัทต้องการตามความจริง ไม่ให้ข้อความอันเป็นเท็จ และต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเสมือนว่าเป็นผลประโยชน์ของตน
  3. รักษาความลับของบริษัท ไม่ส่งข้อความเปิดเผยข้อมูลความลับ วิธีการประกอบหรือวิธีการผลิต ตัวเลข หรือเอกสารภายใน อันเป็นความลับหรือปกปิดเกี่ยวกับกิจการของบริษัทให้แก่ผู้ไม่เกี่ยวข้องหรือบุคคลภายนอกทราบ รวมถึงความลับของลูกค้าของบริษัท

บริษัทมีข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินของบริษัท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงาน หรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันจากการสูญหายหรือชำรุด บกพร่องจากการใช้งานผิดประเภท หรือไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ 

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลทรัพย์สินของบริษัท มิให้เสียหาย สูญหาย และใช้ทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างเต็มที่ และไม่นำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น
  2. ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ระบบที่อาจละเมิดสิทธิในการใช้งานตามปกติของผู้อื่นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรืออาจกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ หลีกเลี่ยงการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง การแก้ไขเปลี่ยนแปลง การตั้งค่าระบบ ฯลฯ ซึ่งอาจมีผลต่อความปลอดภัย หากประสบปัญหาหรือพบเห็นความผิดปกติในการใช้งาน ให้ติดต่อหน่วยงานผู้ดูแลด้าน IT ใช้งานระบบให้ถูกต้องตามสิทธิที่ได้รับอนุญาต เก็บรักษาและไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้รหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานระบบ

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมทางธุรกิจ ประโยชน์ของลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงความเป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติการต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้บุคลากรทุกระดับยึดถือปฏิบัติ 

  1. บริษัทจะดำเนินธุรกิจบนการแข่งขันเสรี โดยคำนึงถึงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ไม่เอารัดเอาเปรียบ และปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
  2. การร่วมลงทุน ควบรวมกิจการ หรือเข้าซื้อกิจการ บริษัทจะต้องพิจารณาว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่เป็นการผูกขาดในตลาด หรือสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
  3. บริษัทจะไม่ทำข้อตกลง รวมถึงไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจกับคู่แข่งหรือบุคคลใด ในลักษณะที่เป็นการผูกขาด จำกัด หรือลดการแข่งขันทางการค้า เช่น กำหนดราคาซื้อขายหรือค่าบริการ การสมยอมในการเสนอราคา การแบ่งพื้นที่การตลาด เป็นต้น
  4. บริษัทจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น เช่น กำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการจำกัดโอกาสหรือทางเลือกในการค้าของคู่ค้า เป็นต้น
  5. พนักงานของบริษัท ต้องระวังการติดต่อกับคู่แข่งหรือพนักงานของคู่แข่ง โดยจะต้องไม่เปิดเผยความลับของบริษัทไปยังคู่แข่ง

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ ดังนั้นจึงกำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ และนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด 

  1. บริษัทมีการกำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการระบุการดำเนินงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้งานระบบสารสนเทศของบริษัทให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้

การขอสิทธิ์ การยกเลิกสิทธิ์ 

สิทธิ์ในการใช้งานและข้อพึงปฏิบัติ 

การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

การกำหนดรหัสผ่าน และการใช้งาน 

ความมั่นคงของระบบงานต่างๆ 

การดำเนินการผู้ฝ่าฝืนนโยบาย 

  1. บริษัทมีการกำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ (Information Security Policy) โดยระบุแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ข้อกำหนด (Standard) และขั้นตอนปฏิบัติ (Procedure) ของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ที่ชัดเจนและเหมาะสม ซึ่งแบ่งเป็นนโยบายย่อย 9 นโยบาย เพื่อให้การใช้สารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานในลักษณะที่ไม่เหมาะสม หรือถูกคุกคามจากภัยต่าง ๆ
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่ดูแลรักษาข้อมูลสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย และใช้งานระบบสารสนเทศภายใต้นโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำหนด

บริษัทมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจ และการดำเนินงานตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจของเรา นอกจากนั้น ยังเล็งเห็นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมของเราที่จะช่วยส่งเสริมให้ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจและลูกค้าก้าวสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยการส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้ลูกค้าและคู่ธุรกิจของเราสามารถใช้งานและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

การละเมิดสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม บริษัทในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคม จึงยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม เคารพในสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน  

  1. ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และ ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างในทางกาย จิตใจ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา อายุ สีผิว การศึกษา สถานะทางสังคมหรือเรื่องอื่นใด
  2. ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ สอดส่องดูแลเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  3. ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ในทุกกระบวนการของการจ้างงาน ตั้งแต่การสรรหา การจ่ายค่าตอบแทน เวลาทำงาน และวันหยุด การมอบหมายงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมและการพัฒนา การวางแผนความก้าวหน้าและอื่นๆโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  4. ไม่ใช้แรงงานบังคับ แรงงานอันมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการลงโทษที่เป็นการทารุณจิตใจพนักงาน ไม่ว่าโดยวิธีการข่มขู่ ขู่เข็ญ คุกคาม หรือการล่วงละเมิดใช้ความรุนแรงในรูปแบบใด

บริษัทมีความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย การรักษาความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของ พนักงานทุกประเภทการจ้าง ผู้รับเหมา ผู้จัดหา คู่ค้า และบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการของบริษัท รวมไปถึงสถานที่ปฏิบัติงานภายนอกบริษัท  

  1. บริษัทจัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย การรักษาความสะอาด รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนทรัพยากรให้มีความปลอดภัยในการทำงาน โดยการจัดหาอุปกรณ์/ เครื่องมือ ที่รองรับการทำงานอย่างปลอดภัยให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
  2. บริษัทสนับสนุนให้พนักงานทุกคนได้พูดคุยปัญหา และตั้งข้อสังเกตได้อย่างอิสระ ถึงสิ่งที่อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทุกคน เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และดำเนินการป้องกัน
  3. บริษัทจัดให้มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ในบริเวณที่ทำงาน โดยอุปกรณ์ปฐมพยาบาลมีไว้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่พนักงานก่อนนำส่งโรงพยาบาล หรือหน่วยพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง
  4. บริษัทกำหนดให้มีแผนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้พนักงานได้รับทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเผชิญกับเหตุฉุกเฉิน เช่น การอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย การรวมพลที่จุดรวมพลเพื่อตรวจนับจำนวนพนักงานทั้งหมด และการติดต่อหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยพนักงานจะได้รับการฝึกอบรมการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช่น การอบรมอัคคีภัย
  5. บริษัทกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานก่อนเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถปฏิบัติงานได้ รวมถึงมีบริการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี
  6. บริษัทกำหนดให้พนักงานขับรถ ต้องผ่านการตรวจหาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ โดยหากพบสารเสพติดระหว่างเป็นพนักงานขับรถ บริษัทจะให้โอกาสบำบัดรักษา และหากตรวจพบอีกจะปลดจากการเป็นพนักงานทันที และในกรณีที่ตรวจพบว่ามีสารเสพติดในครอบครองจะปลดจากการเป็นพนักงานทันที และแจ้งดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย
  7. บริษัทกำหนดให้พนักงานขับรถด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนดและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องมีใบอนุญาตขับขี่, การบรรทุกเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  8. บริษัทกำหนดให้มีตรวจเช็คสภาพความพร้อมของยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
  9. ในระหว่างปฏิบัติงานหัวหน้างานจะสอดส่องพฤติกรรมการทำงานของพนักงานในสังกัด โดยหากพนักงานมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสารเสพติด สามารถแจ้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้จัดหาหน่วยงานภายนอกที่มีความชำนาญการทำการตรวจสอบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
  10. บริษัทกำหนด นโยบายให้อำนาจหยุดการทำงาน (Stop Work Authority Policy)” โดยทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการหยุดการทำงานหรือพฤติกรรมเสี่ยง ที่ขัดต่อนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย การรักษาความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  11. บริษัทจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย การรักษาความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งกฎระเบียบข้อบังคับของทางบริษัท
  12. บริษัทจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดำเนินการควบคุม ปรับปรุง และป้องกันการเกิดอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการดำเนินงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อพนักงาน และ/หรือทรัพย์สินของบริษัท เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย การรักษาความปลอดภัย รวมถึงเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

การบริหารจัดการความเสี่ยง

บริษัทได้นำหลักการบริหารความเสี่ยงมาใช้ ภายใต้กระบวนการบริหารความเสี่ยงตามหลักมาตรฐานสากล The Committee of Sponsoring Organizations (COSO) Enterprise Risk Management (ERM) โดยการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยง มีกระบวนการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้องค์กรลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ให้ระดับของความเสียหาย และขนาดของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ประเมินได้ ควบคุมได้ และตรวจสอบได้อย่างมีระบบ โดยคำนึงถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงมีการกำหนดวัตถุประสงค์ สภาพแวดล้อม การบ่งชี้เหตุการณ์ การประเมินความเสี่ยง การตอบสนองความเสี่ยง กำหนดกิจกรรมการควบคุม มีการสื่อสารและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ 

การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการบริหารความเสี่ยง

บริษัทให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการบริหารความเสี่ยง โดยส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีความตระหนักรู้ มีความเข้าใจ และมีทักษะที่จำเป็นในการบริหารจัดการความเสี่ยง กระบวนการควบคุมภายในที่ดี การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้การบริหารความเสี่ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงาน

การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) มีเพื่อให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการตอบสนองและปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการเตรียมกระบวนการรองรับ อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ การเงิน ชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถรับมือเหตุการณ์ ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด และทำให้กระบวนการดำเนินงานที่สำคัญสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและกลับมาดำเนินการตามปกติได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม 

บริษัทจึงมีการกำหนดนโยบาย มาตรการ ขั้นตอนการบริหารจัดการแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) ขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้น ให้สามารถรับมือกับปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนปฏิบัติการบริหารจัดการแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ 

การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะส่งเสริมให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าที่มีความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือ บรรษัทภิบาล และเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของธุรกิจและชื่อเสียงของบริษัทได้ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากคู่ค้าและผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท และความเชื่อมั่นของคู่ค้าในการเติบโตร่วมกันต่อไปอย่างยั่งยืน 

จัดทำจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า

บริษัทให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ จึงได้จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเดียวกันสำหรับคู่ค้าของบริษัทฯ โดยกำหนดให้คู่ค้าทุกรายยืนยันและยอมรับแนวทางปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า ก่อนคัดเลือกให้เข้ามาเป็นคู่ค้าในปัจจุบัน และได้มีการดำเนินติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  

บริษัทได้กำหนดนโยบายในการจัดหาและคัดเลือกคู่ค้า ซึ่งรวมถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้จำหน่าย ผู้แทนจำหน่าย ผู้ให้บริการหรือผู้รับจ้าง อย่างมีระบบ เป็นธรรมโปร่งใส โดยมีข้อกำหนดในการคัดเลือกที่ชัดเจน ครอบคลุมประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ตามระเบียบและวิธีการจัดหาของบริษัท เพื่อประโยชน์ด้านการบริหารต้นทุน ด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง 

เกณฑ์การพิจารณาคู่ค้ารายสำคัญ (Critical Tier 1 Suppliers) 

  • คู่ค้าที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับ
  • คู่ค้าที่จำหน่ายสินค้า หรือบริการที่มีความสำคัญกับการดำเนินการ
  • คู่ค้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนทดแทนได้

เกณฑ์การพิจารณาคู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (Critical Non-Tier 1 Suppliers) 

  • เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญในภาพรวมธุรกิจของคู่ค้ารายสำคัญ 10 อันดับของบริษัทฯ
  • คู่ค้าที่จำหน่ายสินค้า หรือบริการที่มีความสำคัญกับการดำเนินการ
  • คู่ค้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนทดแทนได้

บริษัทได้มีการส่งเสริมให้คู่ค้าตระหนักถึงจรรยาบรรณธุรกิจ โดยได้มีการประกาศจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าประจำปีให้ทำการรีวิวและลงนามยืนยันการปฏิบัติตามประกาศ และจัดให้มีการประเมินตนเองผ่านแบบสอบถามการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล และเศรษกิจของคู่ค้า โดยบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า เพื่อส่งแบบสอบถามการประเมินสำหรับคู่ค้าที่มียอดการสั่งซื้อตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป  

ความเสี่ยงที่ครอบคลุมการประเมิน 

  1. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ: รวมถึงคุณภาพของสินค้า/บริการ ระยะเวลาในการส่องมอบ และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของผู้ให้บริการ
  2. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม: เช่น การบริหารจัดการ Climate Change การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร
  3. ความเสี่ยงด้านสังคม: ครอบคลุมสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมการทำงาน

บริษัทกำหนดกระบวนการดำเนินการเยี่ยมชมสถานประกอบการของคู่ค้า (On-site ESG Audit) เพื่อตรวจประเมินการดำเนินงานของคู่ค้าอย่างใกล้ชิด ให้มีความมั่นใจได้ว่าคู่ค้ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความยั่งยืน และสามารถลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทได้ 

หลักเกณฑ์ระบุคู่ค้าที่ต้องได้รับการเยี่ยมชมสถานประกอบการ (On-site ESG Audit) 

  • คู่ค้าที่มียอดการสั่งซื้อในปี 2567 ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป 
  • คู่ค้ามีคะแนนประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนสูงกว่า 70 คะแนน จะต้องได้รับการเยี่ยมชมสถานประกอบการ เนื่องจากคู่ค้าเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อบริษัทฯ หากมีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความยั่งยืน

การพัฒนาคู่ค้าเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ การบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้าที่ดีจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาคู่ค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องสร้างและส่งเสริมความร่วมมือให้กับคู่ค้า ด้วยวิธีการที่ผลักดันและสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจของทั้งสองฝ่าย เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การแบ่งปันสถานการณ์ทางการตลาด รวมถึงนโยบายภาครัฐต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดประโยชน์และความสำเร็จที่มั่นคงได้ในระยะยาว บริษัทได้จัดโครงการพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคู่ค้า ดังนี้ 

  • ร่วมมือกันวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างละเอียด โดยมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานในแต่ละไตรมาส เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินงานนั้นมีความสอดคล้องและสามารถตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจของทั้งสองฝ่าย การวางแผนนี้ยังช่วยสร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจนและติดตามความก้าวหน้าของโครงการในทุกระยะ
  • จัดให้มีช่วงเวลาพิเศษที่เปิดโอกาสให้คู่ค้าเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ช่วยให้ทีมงานของบริษัทได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุดในตลาด อัปเดตเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเข้าใจถึงศักยภาพของคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น การอัปเดตเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • เปิดรับฟังข้อมูลเชิงลึกจากคู่ค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม การทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ช่วยลดช่องว่างระหว่างความต้องการของลูกค้ากับโซลูชันที่นำเสนอ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต 
  • มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นผ่านการทำงานที่โปร่งใสและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในเชิงเทคนิค การตลาด หรือการพัฒนาทักษะของทีมงาน สิ่งนี้ช่วยให้เกิดความยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจด้วยโครงการและกิจกรรมเหล่านี้ บริษัทและคู่ค้าจะสามารถร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและตอบสนองต่อความท้าทายในตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนานวัตกรรม

MFEC มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยด้วยเทคโนโลยี โดยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการทำงาน และรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน บริษัทจึงกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการนวัตกรรมให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมภายในองค์กร 

กระบวนการพัฒนาและส่งเสริมวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมขององค์กร

การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ

ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อรากฐานของคุณภาพชีวิตในสังคม บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า และกำหนดเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ 

บริษัทฯ บริหารจัดการบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกให้มีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนทรัพยากรและเครื่องมือที่ช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยยึดหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายด้านการบริหารจัดการบริการอย่างเคร่งครัด