สิทธิมนุษยชน

บริษัทมีเจตนารมณ์ และสนับสนุนในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและ เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นรากฐานของการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการเคารพ สิทธิมนุษยชน และปลูกฝังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ ตระหนักและปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดจนดูแลบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเท่าเทียมกัน ครอบคลุมในเรื่องการปกป้อง การเคารพ และการเยียวยาจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม  

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ กำหนดขึ้นโดยมีกรอบแนวทางมาจากหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนใน ระดับสากล อาทิ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nation Global Compat: UNGC) และ ปฏิญญาว่าด้วย หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization (ILO) Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) 

การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

การระบุความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Identify Human Rights Risks)
  • ประเมินความเสี่ยง : ระบุประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ เช่น การจ้างงาน การจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  • วิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า : ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
  • รับฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย : รวบรวมข้อมูลจากพนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงความกังวลและประเด็นที่อาจเกิดขึ้น
  • วิเคราะห์ความร้ายแรงและโอกาสของผลกระทบ : ประเมินผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยพิจารณาความร้ายแรง ขอบเขต และโอกาสที่ผลกระทบจะเกิดขึ้น
  • จัดลำดับความสำคัญ : ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่มีความเสี่ยงสูงหรืออาจเกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น การละเมิดสิทธิแรงงานเด็ก การทำงานเกินเวลา และการละเมิดสิทธิชุมชน
  • พัฒนานโยบายและมาตรการ : กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งวางมาตรการป้องกันผลกระทบ
  • เสริมสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า : กำหนดข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนในสัญญาธุรกิจกับซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางธุรกิจ
  • ติดตามและสนับสนุนการปรับปรุง : ส่งเสริมให้คู่ค้าปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
  • พัฒนาระบบตรวจสอบภายใน : ตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์กรและคู่ค้าตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
  • วิเคราะห์ข้อมูลและประเมินผล : ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของมาตรการที่ดำเนินการ
  • จัดการข้อร้องเรียน : จัดตั้งช่องทางที่โปร่งใสและเข้าถึงง่ายสำหรับการรับข้อร้องเรียนหรือรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • เสนอการเยียวยาที่เหมาะสม : หากพบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ดำเนินการแก้ไข เช่น การชดเชย การฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือการปรับปรุงนโยบาย
  • ติดตามผลการเยียวยา : ตรวจสอบว่าแนวทางการแก้ไขที่นำมาใช้มีประสิทธิภาพและช่วยลดความเสี่ยงในอนาคต
  • เผยแพร่ข้อมูล : รายงานผลการดำเนินงานและมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะ
  • สร้างความตระหนักรู้ : สื่อสารกับพนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน

การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม

บริษัทสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ โดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของพนักงานผ่านระบบการประเมินผลงานที่โปร่งใสและยุติธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าการประเมินผลงานของพนักงานเป็นไปอย่างยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ บริษัทฯ จึงมีโครงการที่จัดการประเมินผลในรูปแบบการบริหารผลงานทั้งภาพรวมของทีม และส่วนบุคคลที่เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนโครงสร้างแบบ Network Organization Structure ผ่านการสื่อสารระหว่างหัวหน้างานและทีมงานเพื่อสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมในการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถวัดผลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพภายใต้ระบบประเมินผลงาน “Mpulse” (ระบบประเมินผลงานภายในองค์กร)  

โดยสัดส่วนน้ำหนักของคะแนนที่ใช้วัดผลการปฏิบัติงานขององค์ประกอบทั้งสองนี้จะแตกต่างตามระดับตำแหน่งงาน (Job Level) ของพนักงาน ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ระบบ Mpulse ในการบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพ และบริหารค่าตอบแทนพนักงานได้อย่างเหมาะสม โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีการสะท้อนผลประเมินการปฏิบัติงานผ่านเกรด (Performance Grading) ช่วงคะแนน (Score Ranking) และกำหนดแนวทางการให้ Employee Reward ที่สอดคล้องกับผลการประเมิน 

การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

การวิเคราะห์ความจำเป็นในการพัฒนา (Development Needs Analysis) ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาดแรงงาน ส่งผลให้องค์กรทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน การเข้าใจความต้องการของตลาด แนวโน้มที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ความยั่งยืน และการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้การวิเคราะห์ความจำเป็นในการพัฒนาพนักงานยังต้องอาศัยข้อมูลจากผลการปฏิบัติงานเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยการประเมินประสิทธิภาพของพนักงานภายใต้ระบบประเมินผลงาน “Mpulse” ทำให้บริษัทสามารถระบุจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงช่องว่างของทักษะหรือความสามารถที่จำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้บริษัทได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

MFEC ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพพนักงานในทุกมิติ ตั้งแต่การยกระดับทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัล ไปจนถึงการเสริมสร้างความเป็นผู้นำและความผูกพันในองค์กร กลยุทธ์เหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว สอดคล้องกัเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนที่องค์กรมุ่งมั่น 

การส่งเสริมความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของพนักงาน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กร โดยเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาบริษัทฯ ผ่านการจัดทำ Employee Engagement Survey ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจความคิดเห็นและวัดระดับความผูกพันของพนักงานในมิติต่าง ๆ การสำรวจนี้ ช่วยให้องค์กรเข้าใจความต้องการและทัศนคติของพนักงานในเชิงลึก ทั้งในเรื่องของการสื่อสารภายในองค์กรและความสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร ผลการสำรวจนำไปสู่การวางแผนและกำหนดแนวทางพัฒนาความผูกพันของพนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่พนักงานรู้สึกร่วมเป็นเจ้าขององค์กร พร้อมทั้งส่งเสริมแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อตอบสนองเป้าหมายขององค์กรและสร้างความสำเร็จร่วมกันในระยะยาว 

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีคณะกรรมการดูแลสวัสดิการ ที่ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพนักงาน พร้อมทั้งเจรจาหารือและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสวัสดิการขององค์กร โดยคำนึงถึงความครบครันรอบด้านและความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่วางแผนและกำหนดสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะ หรือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน 

ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

การดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการป้องกันที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง บริษัทได้จัดทำคู่มือความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎระเบียบและข้อบังคับด้านความปลอดภัย รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนการดำเนินงานนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง พนักงานทุกคนมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความปลอดภัยในการทำงานไม่ได้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในองค์กร ที่จะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง 

ความรับผิดชอบต่อลูกค้า / ผู้บริโภค

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและการรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าในระยะยาว ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้บริษัสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้าเดิมและสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ อย่างมีระบบและตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ทางบริษัทได้นำเสนอแผนการตลาดเชิงรุกที่ครอบคลุมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับลูกค้า และการรับข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์และช่องทาง Social Media ทุกช่องทาง เพื่อให้ได้รับข้อมูลและความคิดเห็นของลูกค้าอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัยังได้ทำการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้า ทั้งในรูปแบบการสัมภาษณ์และการทำแบบสอบถามระดับความพึงพอใจของลูกค้า Voice of the Customer (VOC) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สินค้าและบริการ เพื่อหาวิธีการตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าอย่างเต็มที่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำเสนอบริการต่าง ๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพ ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและความจงรักภักดีต่อสินค้าและบริการที่บริษัทนำเสนอ 

ความรับผิดชอบต่อชุมชน / สังคม

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต การลดช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างกลุ่มคนในสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญ การเข้าถึงความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาและมีส่วนร่วมกับชุมชนในประเด็นนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัลและส่งเสริมศักยภาพของสังคมในอนาคต